ReadyPlanet.com
dot dot
dot
ศาสนา
dot
bulletวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
bulletวัดไทยไอซ์แลนด์
bulletสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
bulletมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
bulletนิตยสารโลกทิพย์
bulletพุทธพิชิตมาร
bulletพระไทยเนท
bulletสถานทูตไทยประจำประเทศเดนมาร์ก
dot
หนังสือพิมพ์
dot
bulletไทยรัฐ
bulletเดลินิวส์
bulletมติชน
bulletผู้จัดการรายวัน
bulletสยามรัฐ
bulletคม-ชัด-ลึก
bulletสำนักข่าวไทย
bulletbangkokpost
bulletthaipost
dot
กีฬา
dot
bulletสยามกีฬา
bulletsport
dot
สาระน่ารู้
dot
bulletท่องเที่ยวเดนมาร์ก


เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข


วัดไทยเดนมาร์กพรหมวิหาร กรุงโคเปนเฮเกน article

 

 

 

 วัดไทยเดนมาร์กพรหมวิหาร เริ่มก่อตั้งเมื่อ วันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2533 ด้วยความสามัคคีของชาวไทยในประเทศเดนมาร์ก และประเทศใกล้เคียง เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมัน เป็นต้น แรกเริ่มได้รวมตัวกันในนามของ พุทธสมาคม เพื่อก่อตั้งวัดไทยในประเทศเดนมาร์ก เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญกุศลและปฏิบัติธรรมภาวนาโดยทุนเริ่มต้นมาจากสวัสดีไทยสมาคมเพียง8,000.-โครน.ดำเนินการจัดงานทำบุญเข้าพรรษาซึ่งได้นิมนต์พระสงฆ์จากประเทศใกล้เคียง มาประกอบพิธีทางศาสนาแบบชาวพุทธที่ปฏิบัติกันมาจนได้รับการสนับสนุนหลายฝ่ายให้ความร่วมมือกันเป็นจำนวนมากขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปี จนสามารถรวบรวมทุนทรัพย์ได้เป็นจำนวน 200,000.00 โครนจึงได้ปรึกษาหารือและเห็นชอบที่จะหาสถานที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งวัดและนิมนต์พระสงฆ์ผ่านมหาเถรสมาคม จากประเทศไทย เพื่อมอบถวายเป็นสมบัติของสงฆ์ต่อไป ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ได้นำเสนอชื่อ พระสุทธิพงศ์ สุทธิวํโส สังกัดวัดพระไกรสีห์ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครในที่ประชุมมหาเถรสมาคมให้มาปฏิบัติศาสนกิจ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต และเป็นผู้นำพุทธบริษัท ในการก่อตั้งวัดไทยในประเทศเดนมาร์กสืบต่อไป

เมื่อพระธรรมทูตเดินทางมาถึงสถานที่ที่จะทำการจัดตั้งวัดไทย ปรากฏว่ามีอาคารที่ใช้การได้เพียงหลังเดียว ส่วนอาคารอีกสองหลังก็เป็นโรงเลี้ยงม้าและที่เก็บของ ภายในไม่มีเครื่องประดับตกแต่งอะไรเลยแม้กระทั่งพรมปูพื้น เครื่องทำความร้อนก็ยังใช้แบบโบราณคือเตาผิงใหญ่ใช้ฟืน ทางคณะกรรมการพุทธสมาคมได้ทำการตกลงเรื่องการดำเนินงานต่อ โดยให้พระธรรมทูตทำหน้าที่เป็น "หัว" ส่วนคณะกรรมการก็จะทำหน้าที่เป็น "มือและเท้า" สนองงานพระธรรมทูต เมื่อมีการกล่าวมอบอาคารและที่ดินเลขที่ 3 ให้เป็นศาสนสมบัติของพระสงฆ์ โดยไม่มีเงินทุนเหลืออีกเลยมีแต่หนี้สิน1.500.000.- หนึ่งล้านห้าแสนโครน

เมื่อการดำเนินงานของวัดฯ ผ่านมาได้ 8 เดือน เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2534
ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พร้อมคณะพระสงฆ์ จากประเทศไทย ได้เดินทางมาประเทศเดนมาร์กระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจทางประเทศยุโรปเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้พิจารณาสถานที่ที่จัดตั้งวัดฯและสถานที่ที่จะจัดทำพระอุโบสถแล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมผูกพัทธสีมา อุโบสถวัดไทยเดนมาร์กฯ ในวันรุ่งขึ้น คือวันอังคารที่ 2 กรกฏาคม 2534 พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ประกอบด้วย

1 .สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพ ฯ
2. พระเทพโสภณ วัดทินนกรนิมิตนนทบุรี
3. พระประสิทธิสุตคุณ วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพฯ
4. พระปัญญาวชิราภรณ์ วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพฯ
5. พระครูปลัดสัมมพิพัฒนสุตาจารย์ วัดพุทธราม สวีเดนฯ
6. พระครูสุรวุฒิพิศาล วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพฯ
7 .พระครูวุฒิสารสุธี วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพฯ
8. พระครูพิทักษ์สุวรรณบรรพต วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพฯ
9. พระมหาอภิชัย เปมสีโล วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพฯ
10. พระมหาสายัณห์ สุญาโณ วัดสระเกศ ฯ กรุงเทพฯ
11.พระมหาเติม ผคุโณ วัดพุทธประทีป ลอนดอน
12.พระมหาสมบูรณ์ สิทธิญาโณ วัดพุทธประทีป ลอนดอน
13. พระมหาประพจน์ อุตตมญาโณ วัดพุทธวิหาร เนเธอร์แลนด์
14.พระสุทธิพงศ์ สุทฺธิวํโส วัดไทยเดนมาร์ก เดนมาร์ก
15.พระเกษม เขมจิตฺโต วัดไทยเดนมาร์ก เดนมาร์ก

นับเป็นการปฏิบัติศาสนกิจต่างประเทศเป็นครั้งแรก ในตำแหน่งสมเด็จฯ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ด้วย

ต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฏาคม 2534 ได้มีพิธียกช่อฟ้าโดย พระครูเวฬุวันพิทักษ์ (เขื่อนคำ) วัดพระพุทธบาทตากผ้าและพระครูพิทักษ์ปัจจันตเขต(ครูบาฝ้าย) วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ฯพณฯ ธงฉาน และคุณสุภางค์ โชติกเสถียร เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโคเปนเฮเกนและภริยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส 

การเริ่มต้นงานพระธรรมทูตรุ่นบุกเบิกนั้น ต้องรับภาระที่หนักและต้องประสานกับคนทุกๆกลุ่มให้ได้ เมื่อพระธรรมทูตมารับงานใหม่ๆ ก็พบว่ามีการแบ่งเป็นกลุ่มๆ ในหมู่คนไทยที่อยู่ที่นี่ จึงจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลาง ถือความสำเร็จของงานเป็นสำคัญกว่าตัวบุคคลหรือหมู่คณะ พลังสำคัญที่ผลักดันในการสร้างวัดฯในขณะนั้นคือวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่แตกแยกและขาดความอบอุ่นจากครอบครัว เมื่อได้รับกระแสแห่งความเมตตาของพระธรรมทูต จึงหลั่งไหลกันมารวมตัวอยู่ที่วัดฯ เสมือนหนึ่งเป็นบ้านหลังที่สองของพวกเขาและรวมกันเป็นแรงงานที่พัฒนาวัดฯให้ก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในเวลาต่อมา โดยสามารถดำเนินการจ่ายคืนเงินยืมทั้งหมดจำนวนกว่า 1.500.000.- หนึ่งล้านห้าแสนโครน/สิบล้านบาท ได้ทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียง ๓ ปี

 งานประชาสัมพันธ์ก็เป็นความสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้วัดฯ ประสบความสำเร็จ ในการเริ่มต้นทางวัดฯได้รับการสนับสนุนจากนิตยสารโลกทิพย์ ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการเผยแพร่งานของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยและส่งไปจำหน่ายแก่ผู้สนใจในต่างประเทศด้วย ได้ช่วยจัดทำคอลัมน์เฉพาะของวัดฯ มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและบอกบุญช่วยกันบริจาคทรัพย์เพื่อไถ่ถอนที่ดินของวัดฯ อยู่ทุกๆฉบับโดยมิขาด อันเป็นกระบอกเสียงสำคัญเวลาพระธรรมทูตเดินทางไปประกอบศาสนกิจในสถานที่ต่างๆ มักจะได้รับความสนใจสอบถามและให้ความสนับสนุนวัดฯเป็นอย่างดี เมื่อทางวัดฯจัดกิจกรรมดนตรีการกุศล และกีฬาฟุตบอลในหมู่เยาวชนไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างแดนขึ้น ก็ได้รับความร่วมมือจากครอบครัวและญาติมิตรของเยาวชนเหล่านั้นในการจัดตั้งกองผ้าป่ามาสนับสนุนกิจกรรมและไถ่ถอนที่ดิน จนทำให้อาคารและที่ดินอันเป็นที่จัดตั้งวัดไทยเดนมาร์กปลอดหนี้ในระยะเวลาเพียง 3 ปี เนื่องจากการดำเนินงานจัดตั้งวัดไทยเดนมาร์ก นั้นเริ่มจากการที่ไม่มีเงินอยู่ในมือเลย เพราะ200.000.- โครน (สองแสนโครน)ที่มีอยู่ก็วางเป็นเงินงวดแรกให้แก่การซื้ออาคารและที่ดินไปแล้วส่วนเงินที่ยังจ่ายไม่ครบก็ขอยืมมาจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ อีก 1.500.000.- โครน(หนึ่งล้านห้าแสนโครน) เพราะฉะนั้น การใช้จ่ายต่างๆ ของวัดฯ ส่วนใหญ่จะใช้ผ่านสินเชื่อต่างๆ เมื่อจัดงานมีรายได้เหลือจึงนำไปชำระคืนภายหลัง แม้ภายหลังจากการที่สามารถไถ่ถอนที่อาคารและที่ดินคืนได้เป็นกรรมสิทธิ์หมดแล้ว การใช้จ่ายของวัดฯก็ยังเป็นไปในลักษณะเดิม คือ

โครงการณ์ที่ 1 สำเร็จได้ด้วยเงินบริจาคของโครงการณ์ที่ 2
โครงการณ์ที่ 2 สำเร็จได้ด้วยเงินบริจาคของโครงการณที่ 3
เป็นลูกโซ่สืบต่อกันมาเป็นทอดๆ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมโรงเลี้ยงม้าให้เป็นโรงครัว หรือทำห้องเก็บของให้เป็นห้องสมุดและห้องพักสงฆ์ ก็สำเร็จลงได้ด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้แม้ในกระทั่งปัจจุบัน

การดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารหลังต่างๆ ได้ดำเนินติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่  ปี ๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ - ๒๕๓๕ ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังใหญ่ ให้เป็นห้องศาสนพิธี/50.000.-   ห้องรับรอง/30.000.-  ห้องฉันภัตตาหาร/50.000.-  และปูพรมอาคารตลอดทั้งหลัง/80.000.-   ชั้นบนปรับปรุงเป็นห้องพักสงฆ์และเพิ่มห้องสรงน้ำรวมห้องส้วม/100.000.-  ชั้นล่างใต้ดินปรับปรุงห้องอาบน้ำเป็น ๒ ห้อง พร้อมห้องส้วม และดัดแปลงเป็นห้องนอนรวมสำหรับอุบาสกเป็นเตียง ๒ ชั้น ๔ เตียง และห้องนอนส่วนตัวอีก ๑ ห้อง/200.000.-   สิ้นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงทั้งสิ้น 510.000.-ห้าแสนหนึ่งหมื่นโครน/สามล้านสามแสนบาท  ปี ๒๕๓๖ - ๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารที่เป็นโรงเลี้ยงม้า  ชั้นบน/ปรับเพดานให้โปร่งขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของอุบาสิกา/50.000.-   ชั้นล่างได้ปรับปรุงเป็นโรงครัว/350.000.-  ห้องรับประทานอาหาร/50.000.-  ห้องสำนักงาน/100.000.-  จัดสร้างห้องอาบน้ำพร้อมส้วมอีก ๓ หลัง/120.000.-    สิ้นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงทั้งสิ้น 620.000.-  หกแสนสองหมื่นโครน/สี่ล้านห้าแสนบาท   ปี ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐ - ๒๕๔๑ ปรับปรุงและดัดแปลงอาคารเก็บของ ชั้นบน ดัดแปลงหลังคาและกั้นแบ่งเป็นห้องนอนใหญ่สำหรับพระ    ห้องนอน /100.000.-  ชั้นล่าง สร้างห้องสรงน้ำพร้อมส้วม ๑ ห้อง และห้องนอนเล็กอีก ๑ ห้อง/120.000.-  เปลี่ยนทางเข้าชั้นล่างให้เชื่อมกับด้านหลังของอาคารใหญ่และดัดแปลงเป็นห้องสมุด150.000.-   สิ้นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงทั้งสิ้น  370.000.- สามแสนเจ็ดหมื่นโครน/สองล้านห้าแสนบาท  ปี ๒๕๔๒  ปรับทางเดินรอบตัวอาคารและบริเวณที่เป็นสวนภายในวัด 175.000.-  หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นโครน/หนึ่งล้านสองแสนบาท

ต่อมาในปีพุทธศักราช   ๒๕๔๓ ได้ตกลงซื้ออาคารและที่ดินเลขที่ ๕ ซึ่งอยู่ติดกับทางวัดฯ ในราคา 1.500.000.- หนึ่งล้านห้าแสนโครน/สิบล้านบาท  โดยส่วนหนึ่งได้จากเงินกองทุนฯที่เมืองไทยมาชำระในงวดแรก เป็นจำนวน 3.500.000.- บาท (สามล้านห้าแสนบาทถ้วน) ส่วนที่เหลืออีก 1.300.000.- โครน (หนึ่งล้านสามแสนโครน) ได้ขออนุมัติกู้จากทางธนาคาร
โดยผ่อนชำระรายเดือนๆละ 10.000.- โครน (หนึ่งหมื่นโครน) เป็นระยะเวลา 30 ปี แต่มีสิทธิ์ที่จะชำระคืนได้ก่อนกำหนดเวลาโดยชำระดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กู้ยืมจริง การที่ตัดสินใจซื้ออาคารและที่ดินเพิ่มขึ้นนี้ ทำให้มีโอกาสได้ขยายอุโบสถเพิ่มตามเปอร์เซนต์ของเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นและยังได้ใช้อาคารหลังใหม่นี้ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนทางไกลฯ
โดยความร่วมมือของสถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นการเพิ่มศักยภาพของคนไทยผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้มีหลักแหล่งที่มาเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สำนึกในคุณค่าของความเป็นคนไทยมากยิ่งขึ้น

 หมายเหตุ  ราคาทรัพย์สิน ศาสนวัตถุ พระพุทธรูป ภายในตัวอาคาร มีการประเมินผ่านบริษัทประกันประมาณ ๑๐ ล้านโครน/หกสิบห้าล้านบาท

 หมายเหตุ  ราคาทรัพย์สิน ศาสนวัตถุ พระพุทธรูป ภายในตัวอาคาร มีการประเมินผ่านบริษัทประกันประมาณ ๑๐ ล้านโครน/หกสิบห้าล้านบาท

 



เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก พระสุพรหมยานเถร วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และเพื่อเป็นการระลึกถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ สมัยยังดำรงตำแหน่งที่ พระพรหมคุณาภรณ์ วัดไทยเดนมาร์กในปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดไทยเดนมาร์กพรหมวิหาร กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางกรุงโคเปนเฮเกน 27 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกทั้งทางรถรางไฟฟ้า และรถยนต์ ตั้งอยู่เลขที่ 3 ถนน H.P. Hansensvej เขต Stenløse ประเทศ Denmark แต่เดิมมีเนื้อที่ 1408 ตารางเมตร ต่อมาได้จัดซื้ออาคารและที่ดินเลขที่ 5 ซึ่งอยู่ติดกันมีเนื้อที่ 690 ตารางเมตร ต่อมามีการรังวัดที่ดินใหม่ระหว่างเพื่อนบ้านทำให้วัดฯมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 17 ตารางเมตร รวมพื้นที่ของวัดทั้งสิ้น 2115 ตารางเมตร    ศาสนสถานของวัดฯ  แบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีอาคาร 5 หลัง ซึ่งประกอบด้วยอุโบสถ ที่พักสงฆ์ ที่พักฆราวาส ห้องสมุดและโรงทาน

  ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙  ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี ทางวัดฯ ได้ดำเนินการขยายอุโบสถให้กว้างขึ้นเป็น  ๔๒ ตารางเมตร เต็มแนวพื้นที่ของพัทธสีมา โดยก่อเป็นอิฐถือปูนเพื่อกันความหนาวและใช้สอยได้ตลอดทั้งปี สิ้นค่าใช้จ่าย 850.000.- แปดแสนห้าหมื่นโครน/ห้าล้านห้าแสนบาท  ในการนี้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน โดย ฯพณฯ ชัยสิริ อนะมานเอกอัครราชทูต ได้ดำเนินการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์การจัดงานฉลองสิริราชสมบัตครบ ๖๐ ปี เพื่อประดิษฐานที่หน้าบันอุโบสถ  ซึ่งได้รับการอนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการ เมื่อวันที่  ๒๒  มิถุนายน  ๒๕๔๙


ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เมื่อวันอังคารที่ ๓ กรกฏาคม พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรเดนมาร์ก ในการนี้ได้เชิญเสด็จฯทรงเยี่ยมวัดฯ และเปิดนิทรรศการ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

 

ปีพุทธศักราช  2547   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน โดยการขอพระราชทานจากฯพณฯ อดิศักดิ์  ภาณุพงศ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน     

 ปีพุทธศักราช  2548   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน โดยการขอพระราชทานจากฯพณฯ ชัยสิริ  อนะมาน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน   

 ปีพุทธศักราช  2549   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน โดยการขอพระราชทานจากฯพณฯ ชัยสิริ  อนะมาน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน 

ปีพุทธศักราช  2550    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน โดยการขอพระราชทานจากฯพณฯ ชัยสิริ  อนะมาน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน 

ปีพุทธศักราช  2551   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน โดยการขอพระราชทานจากฯพณฯ ชัยสิริ  อนะมาน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน 

ปีพุทธศักราช  2552   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน โดยการขอพระราชทานจาก นางชลชินีพันธุ์  ชีรานนท์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน 

 

 วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานของวัดไทยเดนมาร์กพรหมวิหาร

1. เพื่อเป็นบ้านหลังที่สองเชื่อมความสมัครสมานสามัคคีของชาวไทย และเยาวชนสายเลือดไทยในประเทศเดนมาร์กและประเทศใกล้เคียง

2. เพื่อเป็นสถานศึกษาค้นคว้าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามแก่ชาวต่างประเทศและผู้สนใจ

3. เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่พุทธ- ศาสนิกชนและผู้สนใจในการปฏิบัติ

4. เพื่อเป็นแหล่งเพิ่มเติมความรู้สำหรับชาวไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างแดน

 

 

 

รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร  สาขาการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

เนื่องในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา วิสาขบูชา

14  พฤษภาคม  2540

ณ ท้องสนามหลวง  เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร

 หมายเหตุ  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐  ได้รับการติดต่อจากพระโรเบิร์ต  ธัมมานันโท ซึ่งเป็นชาวอังกฤษและคุ้นเคยกันตั้งแต่ท่านเป็นสามเณร เดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศไอซ์แลนด์และมีความปรารถนาที่จะจัดตั้งวัดของชาวพุทธที่นี่  กำลังประสบปัญหาหลายอย่างและต้องการความช่วยเหลือโดยการส่งพระธรรมทูตจากวัดไทยเดนมาร์กฯไปช่วยงาน ซึ่งได้จัดส่งพระธรรมทูตหมุนเวียนกันไป  โดยมีพระปลัดเกษม  เขมจิตฺโต และพระมหาประสิทธิ์  สิรินฺธโร เป็นหลัก  ต่อมาพระโรเบิร์ตได้ลาสิกขา จึงได้เข้ามารับผิดชอบดำเนินงานต่อ จนกระทั่งในปี ๒๕๔๖  ได้ร่วมกันดำเนินการจัดซื้ออาคารและที่ดินในเมืองโคโปโวก ใกล้กับเมืองหลวงในราคาประมาณ ๒๖ ล้านไอซ์แลนด์โครน/๑๘ ล้านบาท  และมอบอำนาจให้พระมหาประสิทธิ์  สิรินฺธโร ซี่งได้ใบอนุญาตให้มีถิ่นพำนักถาวรอยู่ ณ ประเทศไอซ์แลนด์รับผิดชอบและดำเนินการผ่อนชำระเป็นรายเดือนต่อธนาคารที่อนุมัติให้เงินกู้ต่อไป

กิจวัตรประจำวัน

05.00 น. เจริญภาวนาและทำวัตรเช้า

09.00 น. เจริญภาวนา พระสงฆ์ออกไปรับบิณฑบาตรในเมือง  

11.00 น. ไหว้พระรับศีล พระสงฆ์ออกรับบิณฑบาตรภายในวัดฯ

13.00 น. เจริญภาวนา

17.00 น. ทำวัตรเย็นและเจริญภาวนา

20.00 น. ไหว้พระและธรรมะก่อนนอน

พระธรรมทูตที่มาปฏิบัติศาสนกิจและจำพรรษา ปี พุทธศักราช 2553

1. พระครูวิสุทธิธรรมวิเทศ (พระสุทธิพงศ์ สุทฺธิวํโส) นามสกุล แสงสุข อายุ 64 พรรษา 39  สังกัดวัดพระไกรสีห์ แขวงหัวหมาก

เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร 

2. พระครูสุพัฒนเขมคุณ  (พระเกษม  เขมจิตฺโต)  นามสกุลใจปะ อายุ 53 ปี พรรษา  33 สังกัดวัดป่าสหธรรมิการาม  ต.แม่ปั๋ง  อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 

3. พระมหาสุนทร  สุนฺทรธมฺโม  นามสกุล ทาดี  อายุ  44  ปี  พรรษา 24  สังกัดวัดม่วง  แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร

4. พระครูวินัยธร เจริญชัย จนฺทสุทฺโธ นามสกุล ฟองจามร  อายุ  42 ปี พรรษา 22  สังกัดวัดพระไกรสีห์  แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร

 

  

 

 

    

 

  

 

 

 เป็นตัวแทนผู้นำชาวพุทธประเทศเดนมาร์ก

รับพระราชทาน CD-ROM พระไตรปิฏก  6 ภาษา

จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี

พฤษภาคม  2549

ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  กรุงเทพมหานคร

 

  

เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา  5  ธันวาคม 2549  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ พระสงฆ์ที่ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ จำนวน 18  รูป

ฯลฯ

พระอธิการสุทธิพงศ์  สุทฺธิวํโส  วัดไทยเดนมาร์กพรหมวิหาร  กรุงโคเปนเฮเกน  ราชอาณาจักรเดนมาร์ก

เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก

ในพระราชทินนามที่  

พระครูวิสุทธิธรรมวิเทศ

ฯลฯ

 

 

 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

เสด็จเยี่ยมวัดไทยเดนมาร์กพรหมวิหาร  กรุงโคเปนเฮเกน

วันอังคารที่  ๓ กรกฏาคม  ๒๕๕๐ 

 




ประวัติ

*
คณะสมเด็จฯ วัดปากน้ำในพิธีฉลองสมณศักดิ์ฯ article
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระอธิการสุทธิพงศ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในพระราชทินนาม ที่ พระครูวิสุทธิธรรมวิเทศ article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
WatThaiDenmarkBrahmavihara / Buddhist Monastery H.P.Hansensvej 3, 3660, Stenløse,Denmark. Tel. Mobil.+45 40417039 e-mail: watthaidenmark@hotmail.com